วัดแก่งคอยหรือวัดแร้งคอย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

เป็นวัดเก่าแก่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2330 ถ้าหากดูตามปีพุทธศักราชนั้นก็คือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ วัดแก่งคอยมีอยู่คู่กับตลาดเก่าแก่งคอยมานานแล้ว เนื่องจากมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนริมแม่น้ำป่าสักเพื่อการสันจรไปมาติดต่อค้าขาย ส่วนคำว่าแก่งคอยมีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน

ขอเล่าเรื่องย้อนอดีตกาลเมื่อครั้งโบราณกาลบริเวณนี้เป็นป่าไม้หนาทึบพอชาวบ้านจะเดินทางเข้าเมืองหลวงคือกรุงรัตนโกสินทร์จะต้องมารวมกันที่โขดหินหรือแก่งในแม่น้ำป่าสัก ด้วยเหตุผลนี้จึงเรียกขานว่าแก่งคอย แต่ถึงอย่างไรก็ตามคำเรียกแก่งสันนิษฐานอีกเรื่องหนึ่ง น่าจะมาเรียกว่าแก่งคอยหรือไม่? บริเวณหน้าวัดริมแม่น้ำป่าสักมีต้นไม้ใหญ่ 4-5 ต้นโดยเฉพาะต้นยางสูงเด่นชัดมากด้วยนกอีกาและนกอีแร้งเกาะกิ่งไม้รอคอยกินซากสัตว์ป่าหรือคนเป็นไข้ป่าเสียชีวิตไม่มีใครรู้!!!จึงเป็นคำเรียกว่า แร้งคอย แล้วก็เป็นชื่อ วัดแร้งคอย

ต่อมาทางราชการได้เปลี่ยนชื่อวัดจมูกสโมสรและเมื่อความเจริญเข้ามาในย่านชุมชนแก่งคอยทางคณะกรรมการวัดและคณะสงฆ์ลงความเห็นตรงกันจึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดแก่งคอย ตลาดแก่งคอย ชุมชนแก่งคอย ภายในวัดมีจุดน่าสนใจมากมาย ซึ่งแน่นอนว่า วันนี้เราจะพามาที่ ถ้ำนาคา วังพญานาค นั่นเอง

ทางวัดได้ก่อสร้าง ถ้ำพญานาค ขึ้นอย่างสวยงามตระการตา และเปิดให้นักท่องเที่ยวมาทำบุญ เที่ยวชมถ้ำสวยๆ ได้ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำป่าสัก เป็นอีกหนึ่งที่เที่ยวใหม่ของสระบุรี ภายในตกแต่งเป็นถ้ำใต้บาดาลจำลอง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพญานาค และมีการประดับด้วยหลอดไฟหลากสี ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในถ้ำใต้น้ำที่ดูลึกลับและศักดิ์สิทธิ์

นอกจากมาเที่ยวชมแล้ว สายบุญหลายคน สามารถมาไหว้ขอพรได้อีกด้วย “อนุสาวรีย์ผู้ประสบภัยทางอากาศ สงครามโลกครั้งที่สอง” ที่ชาวบ้านในชุมชนสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงผู้วายชนม์ ในเหตุการณ์ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2488 เครื่องบินรบของกองทัพพันธมิตร B24 ทิ้งระเบิดที่แก่งคอยซึ่งมีทหารญี่ปุ่นมาตั้งฐานทัพอยู่ ส่งผลให้สถานที่ราชการ ตลาด วัด บ้านเรือนประชาชนเสียหาย มีชาวแก่งคอยและทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตได้รวบรวมอัฐิของผู้เสียชีวิตมาไว้ภายในบริเวณวัดและได้ร่วมกันจัดสร้างอนุสาวรีย์ผู้ประสบภัยทางอากาศ สงครามโลกครั้งที่สองแห่งนี้ขึ้นโดยประชาชนชาวแก่งคอยได้ร่วมจัดพิธีรำลึกถึงผู้ประสบภัยทางอากาศ สงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน